เรือนหมอพร กับ ราชมงคลพระนคร

เรือนหมอพรเรือนหมอพร
หน้ามุข อาคาร 1 คณะศิลปศาสตร์

หน้ามุข อาคาร 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ศูนย์พณิชยการพระนคร)

เรือนหมอพร เดิมเป็นของหม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา พระชายาในกรมหลวงชุมพรฯ มีลักษณะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น เป็นศิลปกรรมแบบ นีโอ–คลาสสิก (Neo-Classic) แต่ได้ดัดแปลงให้เข้ากับภูมิอากาศใน เขตร้อน ด้วยการสร้างเป็นเรือนไม้ เรือนลักษณะนี้เริ่มแพร่หลายเข้า มาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่นิยมสร้างกันในหมู่คหบดี ขุนนาง และชนชั้นกลางทั่วไป

ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 กรมอาชีวศึกษาได้ขอซื้อที่ดินพร้อมบ้านเรือนไม้สองชั้นสองหลังจากหม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา และหม่อมเจ้ารุจยากร อาภากร ณ อยุธยา ปัจจุบันเหลือเพียงเรือนแห่งนี้เพียงหลังเดียว เพื่อขยายอาณาเขตของโรงเรียนพณิชยการพระนครในขณะนั้น เรือนหลังนี้จึงตกอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร มาจนถึงทุกวันนี้ เรือนหลังนี้ แต่เดิมใช้เป็นที่ทำการของร้านสหกรณ์ ซึ่งเรียกว่า “ร้านฝึกการค้า” ดำเนินการโดยนักเรียน ชั้นบนเป็นที่เก็บสินค้า ส่วนชั้นล่างเป็นที่ทำการค้า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาเสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้มีรับสั่งถามว่า “ยังมีสิ่งใดที่ในสมัยเป็นวังหลงเหลืออยู่บ้าง” ศาสตราจารย์ธรรมนูญ อัคคพานิช ผู้อำนวยการในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า “ยังมีเรือนหลังหนึ่งอยู่” มีพระราชกระแสว่า “ให้อนุรักษ์ไว้” ซึ่งก็คือ “เรือนหมอพร” นั่นเอง

ทางมหาวิทยาลัยได้บูรณะเรือนหลังนี้มาโดยตลอดนับตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นวิทยาเขตพณิชยการพระนคร ครั้งหนึ่งเคยใช้เป็น “เรือนพยาบาล” และได้ตั้งชื่อว่า “เรือนหมอพร” มีพิธีเปิด เมื่อ พ.ศ.2522 โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดเบญจมบพิตร เป็นประธานในพิธี เหตุที่ชื่อเรือนหมอพรนั้น มาจากพระนามของกรมหลวงชุมพรฯ ในบทบาทของหมอผู้รักษาคนไข้ ในระหว่างปี พ.ศ. 2454-2460 พระองค์ได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ และทรงสนพระทัยศึกษาในวิชาการแพทย์แผนโบราณจากตำราไทยและจากแพทย์ชาวต่างชาติ ทรงเขียนตำรายาแผนโบราณลงในสมุดข่อยและทรงตั้งชื่อตำรายาแผนไทยสมุดข่อยเล่มนี้ว่า “พระคัมภีร์ อติสาระวรรค โบราณะกรรม และ ปัจจุบันะกรรม” ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จ.สมุทรปราการ

ต่อมาเรือนหมอพรมีสภาพทรุดโทรมลง จึงย้ายเรือนพยาบาลออกไปไว้ที่หอประชุมอาภากร แล้วบูรณะเรือนหลังนี้ขึ้นใหม่ และได้จัดเรือนหมอพรเป็น “ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาเขตพณิชยการพระนคร สถาบันราชมงคลเฉลิมพระเกียรติ” มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2542 โดย ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ดร.อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี (“เรือนหมอพร” สืบค้นวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗. www.tumsrivichai.com/index.php?lay) เมื่อมีการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ จึงได้ย้ายเรือนทั้งหลังโดยไม่มีการรื้อถอนตัวเรือน มาอยู่ในตำแหน่งบริเวณสนามหญ้าด้านในพื้นที่โอบล้อมของอาคาร ๑ และได้บูรณปฏิสังขรณ์เป็น “พิพิธภัณฑ์เรือนหมอพร”

เรือนหมอพร มีความเกี่ยวข้องกับคณะศิลปศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ ศูนย์พณิชยการพระนคร (เดิมคือ “วิทยาเขตพณิชยการพระนคร”) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร  โดยเป็นอาคารโบราณสถานซึ่งเป็นทรัพย์สินที่คณะศิลปศาสตร์ได้รับมอบหมายจากทางมหาวิทยาลัยให้ดูแลรักษาและอนุรักษ์ไว้ ตามพันธกิจประการที่สี่ของมหาวิทยาลัยในทศวรรษแรกคือ “การทำนุบำรุงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม” และสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยของ รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดีคนปัจจุบัน ซึ่งได้กำหนดไว้ในนโยบายข้อที่ 5 “การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นภูมิปัญญาของโลก” ในข้อย่อยที่ 5.1 “อนุรักษ์สืบสานและพัฒนาศิลปวัฒนธรรมไทย”

ความเกี่ยวข้องกันนี้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.  2551  ซึ่งเป็นปีแรกที่จัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ขึ้นและต้องดำเนินการเคลื่อนย้ายเรือนหมอพรทันที เพราะหลังจากมีการปรับโครงสร้างการบริหารจากวิทยาเขตพณิชยการพระนคร แบ่งเป็นคณะบริหารธุรกิจ และคณะศิลปศาสตร์ แล้วนั้น คณะบริหารธุรกิจมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงอาคารสถานที่ เพื่อรองรับการขยายการศึกษา เนื่องจากอาคารสถานที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะห้องเรียนที่มีอยู่น้อยนั้นมีสภาพที่เก่าทรุดโทรม ไม่เหมาะที่จะเป็นสถานศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างอาคารอเนกประสงค์ขึ้น ซึ่งเดิมจะสร้างเป็นอาคารชั้นเดียวสูง 6 ชั้น แต่กฎหมายไม่อนุญาตเพราะใกล้เขตพระราชฐานชั้นใน ห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 12 เมตร แต่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณมาตามนั้นแล้ว จึงต้องปรับรูปแบบอาคารเป็น 2 หลัง ทำให้เนื้อที่อาคารขยายไปเบียดบังถึงเรือนหมอพรซึ่งตั้งอยู่ตรงกลาง แต่เรือนหมอพรนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน กรมศิลปากร ซึ่งมีกฎหมายระบุว่า ห้ามมิให้มีสิ่งปลูกสร้างที่จะบดบังอาคารโบราณสถานในระยะ 15-20 เมตร ทำให้มีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายเรือนหมอพร ด้วยพื้นที่บังคับ มหาวิทยาลัยจึงมอบให้คณะศิลปศาสตร์ ทำหนังสือขออนุญาตกรมศิลปากรเพื่อเคลื่อนย้ายเรือนหมอพร และกรมศิลปากรได้ให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการได้ โดยให้ย้ายเรือนหมอพรไปตั้งในที่ใหม่ ซึ่งห่างจากจุดเดิมประมาณ 80 เมตร โดยขยับจากตรงกลางระหว่างอาคารพร้อมมงคล และอาคารมงคลอาภา มาอยู่ในบริเวณสนามหญ้าด้านในพื้นที่โอบล้อมของอาคาร 1 และมีการลงเสาเข็มทำฐานปูนคอนกรีตเพื่อรองรับตัวเรือน ณ ที่ตั้งใหม่ให้แข็งแรงมั่นคงสง่างาม