เดลินิวส์: “เรือนหมอพร” อนุสรณ์ของ ‘เสด็จเตี่ย’ (2550)

“เรือนหมอพร” อนุสรณ์ของ ‘เสด็จเตี่ย’ (หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 2550)

เรือนหมอพร อนุสรณ์ของ เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพร

dailynewsRuen01

เรือนหมอพร อนุสรณ์ของ เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพร

หากใครผ่านมาทาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร บริเวณมุมถนนพิษณุโลก จะต้องพนมมือขึ้นไหว้สักการะพระอนุสาวรีย์พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กันทุกครั้งไป…แล้วมีใครรู้บ้างว่า ยังมี “เรือนหมอพร” ที่มีความเป็นมาแต่ครั้งยังเป็นวังนางเลิ้งให้อนุชนรุ่นหลังได้ชื่นชมกันอีกด้วย

“เรือนหมอพร” ตั้งอยู่ภายในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนคร หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร ในปัจจุบัน เรือนหลังนี้เจ้าของเรือนเดิมคือ หม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา พระชายาในกรมหลวงชุมพรฯ มีลักษณะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น เป็นศิลปกรรมแบบ นีโอ–คลาสสิก (Neo-Classic) แต่ได้ดัดแปลงให้เข้ากับภูมิอากาศใน เขตร้อน ด้วยการสร้างเป็นเรือนไม้ เรือนลักษณะนี้เริ่มแพร่หลายเข้า มาในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่นิยมสร้างกันในหมู่คหบดี ขุนนาง และชนชั้นกลางทั่วไป

ครั้นในปี พ.ศ. 2479 กรมอาชีวศึกษาได้ขอซื้อที่ดินพร้อมบ้านเรือนไม้สองชั้นสองหลังจากหม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา และหม่อมเจ้ารุจยากร อาภากร ณ อยุธยา ปัจจุบันเหลือเพียงเรือนแห่งนี้เพียงหลังเดียว เพื่อขยายอาณาเขตของโรงเรียนพณิชยการพระนครในขณะนั้น เรือนหลังนี้จึงตกอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชย การพระนคร มาจนถึงทุกวันนี้

เรือนหลังนี้ แต่เดิมใช้เป็นที่ทำการของร้านสหกรณ์ ซึ่งเรียกว่า “ร้านฝึกการค้า” ดำเนินการโดยนักเรียน ชั้นบนเป็นที่เก็บสินค้า ส่วนชั้นล่างเป็นที่ทำการค้า

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาเสด็จฯ  ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้มีรับสั่งถามว่า “ยังมีสิ่งใดที่ในสมัยเป็นวังหลงเหลืออยู่บ้าง” ศาสตราจารย์ธรรมนูญ อัคคพานิช ผู้อำนวยการในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า “ยังมีเรือนหลังหนึ่งอยู่” มีพระราช กระแสว่า “ให้อนุรักษ์ไว้” ซึ่งก็คือ “เรือนหมอพร”

ทางมหาวิทยาลัยได้บูรณะเรือนหลังนี้มาโดยตลอด ครั้งหนึ่งเคยใช้เป็น “เรือนพยาบาล” และได้ตั้งชื่อว่า “เรือนหมอพร”
มีพิธีเปิด เมื่อ พ.ศ.2522 โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดเบญจมบพิตร เป็นประธานในพิธี

เหตุที่ชื่อเรือนหมอพรนั้น มาจากพระนามของกรมหลวงชุมพรฯ ในบทบาทของหมอผู้รักษาคนไข้ ในระหว่างปี พ.ศ. 2454-2460 พระองค์ได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ และทรงสนพระทัยศึกษาในวิชาการแพทย์แผนโบราณจากตำราไทยและจากแพทย์ชาวต่างชาติ ทรงเขียนตำรายาแผนโบราณลงในสมุดข่อยและทรงตั้งชื่อตำรายาแผนไทยสมุดข่อยเล่มนี้ว่า “พระคัมภีร์ อติสาระวรรค โบราณะกรรม และ  ปัจจุบันะกรรม” ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จ.สมุทร ปราการ

นอกจากจะทรงศึกษาค้นคว้าตำรายาต่าง ๆ แล้ว พระองค์ยังได้ทรงรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่คนทั่วไป โดยไม่คิดค่ารักษาหรือค่ายา ทรงฉลองพระองค์แบบง่าย ๆ ใส่เสื้อราชปะแตนและนุ่งผ้าม่วงตามสมัยนิยมในยุคนั้น ถือไม้เท้ากระเป๋าล่วมยา เวลาเสด็จไปไหนจะประทับบนรถม้า รักษาชาวบ้านตั้งแต่ละแวกนางเลิ้งไปจนถึงเยาวราช โดยเฉพาะชาวจีนย่าน สำเพ็ง ต่างเรียกพระองค์ว่า “เตี่ย” ผู้คนในชุมชนนางเลิ้งสมัยนั้น รู้จักพระองค์ท่านเป็นอย่างดีในนามของ “หมอพร”

ต่อมาเรือนหมอพรมีสภาพทรุดโทรมลง จึงย้ายเรือนพยาบาลออกไปไว้ที่หอประชุมอาภากร แล้วบูรณะเรือนหลังนี้ขึ้นใหม่ และได้จัดเรือนหมอพรเป็น “ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาเขตพณิชยการพระนคร สถาบันราชมงคลเฉลิมพระเกียรติ มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2542 โดย ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ดร.อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี

ภายในแสดงสิ่งของต่าง ๆ ใน หมวดเครื่องใช้ประจำพระองค์ ได้แก่ ฉลองพระองค์ทหารเรือ  พระมาลา อินทรธนู หีบเหล็กสำหรับเก็บข้าวของเครื่องใช้ชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย กี๋ (ถาดไม้วางถ้วยชาม) หมวดเครื่องแพทย์ ได้แก่ ที่ปั๊มยา เครื่องบดยา หินบดยาพร้อมลูกบิด ตะแกรงร่อนยา หูฟัง อับแก้วเจียระไน โกร่งบดยาขนาดใหญ่ โกร่งราง รวมทั้งภาพถ่ายต่าง ๆ โดยสิ่งของทั้งหลายเหล่านี้ได้รับ  การบริจาคจากผู้เคารพศรัทธาพระองค์ท่านเกือบทั้งสิ้น

ความเปลี่ยนเกิดขึ้นกับเรือนหมอพรอีกครั้ง หลังจากมีมติเห็นชอบจากกรมศิลปากรอนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์และย้ายเรือนหมอพร ด้วยวิธีการเคลื่อนย้ายเรือนทั้งหลังโดยไม่มีการรื้อตัวเรือน มาอยู่ในตำแหน่งบริเวณสนามหญ้าด้านในพื้นที่โอบล้อมของตึก 1 และมีการลงเสาเข็มเพื่อรองรับตัวเรือนอีกด้วย

ผศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่า หลังจากที่เปลี่ยนมาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงอาคารสถานที่ เพื่อรองรับการขยายการศึกษาอีกทั้งห้องเรียนที่มีอยู่นั้นมีสภาพที่เก่าทรุดโทรม ไม่เหมาะที่จะเป็นสถานศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างอาคารอเนกประสงค์ขึ้นและย้ายเรือนหมอพรไปตั้งในที่ใหม่ที่เหมาะสม สง่างาม และไม่ถูกบดบังทัศนียภาพของตัวเรือน

จากเดิมจะสร้างสูง 6 ชั้น แต่กฎหมายไม่อนุญาตเพราะเป็นเขตพระราชทานห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 12 เมตร ฉะนั้นจึงมีการปรับรูปแบบอาคารเป็น 2 หลัง ทำให้เนื้อที่ขยายไปถึงเรือนหมอพร ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร โดยมีกฎเกณฑ์ว่า ห้ามมีสิ่งปลูกสร้างในบริเวณโบราณ สถาน 15-20 เมตร ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีการย้ายเรือน จึงให้ทางคณะบริหารธุรกิจซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง ทำหนังสือชี้แจงเหตุผลมาทางกรมศิลปากรเพื่อพิจารณา

dailynewsRuen02

เรือนหมอพร มาจากพระนามของกรมหลวงชุมพรฯ
ในบทบาทของหมอผู้รักษาคนไข้

“ได้มีการทำพิธีทางสงฆ์ 2 ครั้ง ทั้งทางพราหมณ์และทางพุทธ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรมาช่วยในการดำเนินการ ทุกคนในที่นี้ มีความรักและเคารพเสด็จพ่อกันทุกคน อะไรที่เป็นอนุสรณ์ของพระองค์ท่านจะพยายามรักษาและดูแลอย่างดีที่สุด ถ้าใครเป็นศิษย์เก่าที่นี่จะรับรู้ได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในวังนางเลิ้งแห่งนี้ จะทำอะไรทุกคนจะนึกถึงและมีความเกรงกลัวว่าจะเกิดภัยกับตนเองเช่นเดียวกัน ฉะนั้น ในส่วนที่จะต้องอนุรักษ์จะบูรณะเก็บรักษาดูแล ในส่วนที่จะต้องพัฒนาคงต้องให้มีความก้าวหน้าสมกับยุคสมัยด้วยเช่นกัน” ผศ.ว่าที่ ร.ต.วัชระ โพธิสรณ์ คณบดี คณะศิลปศาสตร์ และ อ.ดวงดาว ทัศนะประเสริฐ รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน คณะศิลปศาสตร์ กล่าวถึงแนวทาง  ให้ฟัง

อ.เพ็ญพิมล ทุมประเสน หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ไม่ว่าเรือนหมอพรจะอยู่ที่ใดก็ตาม เรื่องราวทุกสิ่งทุก อย่างที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านจะอยู่ในใจของทุกคน และยังระลึกถึงเสมอ เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงว่าจะทำไม่ดี แต่จงมั่นใจในตัวผู้ที่เกี่ยวข้อง ในความเป็นลูกเสด็จเตี่ยว่า ทุกสิ่งที่ทำนั้นเพื่อเสด็จเตี่ยและลูก ๆ ที่มาอาศัยร่มเงาของรั้ววังสนแห่งนี้ ในเมื่อเรามีดวงใจดวงเดียวกัน ไม่ต้องกลัวว่าจะคิดที่จะทำลายแต่ในทาง กลับกัน ทุกคนพยายามคิดในทางที่สร้างสรรค์ว่า จะต้องมีสิ่งที่ดีขึ้นและดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ละเลยประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่…

“เรือนหมอพร” หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่เหลืออยู่ให้ลูกหลานได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ…เสด็จเตี่ย

 

(ทีมวาไรตี้ เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=143695&NewsType=1&Template=1)