สารรักษ์วัฒนธรรม มทร.พระนคร : การเคลื่อนย้ายเรือนหมอพร (2552)

การเคลื่อนย้ายเรือนหมอพร

โดย ผศ. ว่าที่ ร.ต. วัชระ โพธิสรณ์  คณบดี คณะศิลปศาสตร์

การเคลื่อนย้ายเรือนหมอพร-สารศิลปวัฒนธรรม น1

เรือนหมอพร เป็นเรือนไม้สองชั้น ลักษณะศิลปกรรมเป็นแบบนีโอ–คลาสสิก (Neo-Classic) ของยุโรป แต่ได้ดัดแปลงให้เข้ากับภูมิอากาศในเขตร้อน ด้วยการใช้ไม้เป็นวัสดุตัวเรือนแทนที่จะเป็นอิฐและปูน เรือนลักษณะนี้เริ่มแพร่หลายเข้ามาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่นิยมสร้างกันในหมู่คหบดี ขุนนาง และชนชั้นกลางทั่วไป
เรือนหมอพร ปัจจุบันตั้งอยู่ภายในคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร ซึ่งเดิมคือวิทยาเขตพณิชยการพระนคร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เรือนหลังนี้เจ้าของเดิมคือ หม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา พระชายาในพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2497 กรมอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นต้นสังกัดของโรงเรียนพณิชยการพระนครในขณะนั้น ต้องการขยายพื้นที่การศึกษา จึงได้ขอซื้อที่ดินพร้อมบ้านเรือนไม้สองชั้นสองหลัง จากหม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา และหม่อมเจ้ารุจยากร อาภากร ณ อยุธยา ปัจจุบันเหลือเรือนหลังนี้เพียงหลังเดียว

เรือนหลังนี้ แต่เดิมใช้เป็นที่ทำการของร้านสหกรณ์ ซึ่งเรียกว่า ร้านฝึกการค้า ดำเนินการโดยนักเรียน ชั้นบนเป็นที่เก็บสินค้า ส่วนชั้นล่างเป็นที่ทำการค้า
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้มีรับสั่งถามว่ายังมีสิ่งใดที่ในสมัยเป็นวังหลงเหลืออยู่บ้างศาสตราจารย์ธรรมนูญ อัคคพานิช ผู้อำนวยการในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ยังมีเรือนหลังหนึ่งอยู่ จึงมีพระราชกระแสว่า ให้อนุรักษ์ไว้ ซึ่งก็คือ เรือนหมอพร หลังนี้นั่นเอง
ในสมัยที่เป็นวิทยาเขตพณิชยการพระนคร ได้มีการบูรณะเรือนหลังนี้เพื่อใช้งานมาโดยตลอด คือใช้เป็นที่ตั้งของแผนกพยาบาล โดยเรียกว่า เรือนพยาบาล และต่อมาจึงตั้งชื่อว่า เรือนหมอพร เมื่อ พ.ศ.2522 มีพิธีเปิด โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร เป็นประธานในพิธี
เหตุที่ชื่อเรือนหมอพรนั้น มาจากพระนามของกรมหลวงชุมพรฯ ในบทบาทของหมอผู้รักษาคนไข้ ในระหว่างปี พ.ศ. 2454-2460 พระองค์ได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ และทรงสนพระทัยศึกษาในวิชาการแพทย์แผนโบราณจากตำราไทยและจากแพทย์ชาวต่างชาติ ทรงเขียนตำรายาแผนโบราณลงในสมุดข่อย และทรงรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่คนทั่วไป โดยไม่คิดค่ารักษาหรือค่ายา ทรงฉลองพระองค์แบบง่าย ๆ ใส่เสื้อราชปะแตนและนุ่งผ้าม่วงตามสมัยนิยมในยุคนั้น ถือไม้เท้ากระเป๋าล่วมยา เวลาเสด็จไปไหนจะประทับบนรถม้า รักษาชาวบ้านตั้งแต่ละแวกนางเลิ้งไปจนถึงเยาวราช โดยเฉพาะชาวจีนย่านสำเพ็ง ต่างเรียกพระองค์ว่า เตี่ย ผู้คนในชุมชนนางเลิ้งสมัยนั้น ทรงให้เรียกพระองค์ท่านว่า หมอพร
ต่อมาเรือนหมอพรมีสภาพทรุดโทรมลง จึงย้ายเรือนพยาบาลออกไปไว้ที่หอประชุมอาภากร แล้วบูรณะเรือนหลังนี้ขึ้นใหม่ และได้จัดตั้งให้เรือนหมอพรเป็น ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาเขตพณิชยการพระนคร สถาบันราชมงคลเฉลิมพระเกียรติ มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2542 โดย ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ดร.อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี
ภายในเรือนหมอพรแสดงสิ่งของต่าง ๆ ใน หมวดเครื่องใช้ประจำพระองค์ หมวดเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งภาพถ่ายต่าง ๆ โดยสิ่งของทั้งหลายเหล่านี้ได้รับการบริจาคจากผู้เคารพศรัทธาพระองค์ท่านเกือบทั้งสิ้น
            ในปี พ.ศ. 2551 หลังจากมีการปรับโครงสร้างการบริหารจากวิทยาเขตพณิชยการพระนคร แบ่งเป็นคณะบริหารธุรกิจ และคณะศิลปศาสตร์ ศูนย์พณิชยการพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คณะบริหารธุรกิจมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงอาคารสถานที่ เพื่อรองรับการขยายการศึกษา เนื่องจากอาคารสถานที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะห้องเรียนที่มีอยู่น้อยนั้นมีสภาพที่เก่าทรุดโทรม ไม่เหมาะที่จะเป็นสถานศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างอาคารอเนกประสงค์ขึ้น ซึ่งเดิมจะสร้างเป็นอาคารชั้นเดียวสูง 6 ชั้น แต่กฎหมายไม่อนุญาตเพราะใกล้เขตพระราชฐานชั้นใน ห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 12 เมตร แต่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณมาตามนั้นแล้ว จึงต้องปรับรูปแบบอาคารเป็น 2 หลัง ทำให้เนื้อที่อาคารขยายไปเบียดบังถึงเรือนหมอพรซึ่งตั้งอยู่ตรงกลาง แต่เรือนหมอพรนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน กรมศิลปากร ซึ่งมีกฎหมายระบุว่า ห้ามมิให้มีสิ่งปลูกสร้างที่จะบดบังอาคารโบราณสถาน ในระยะ 15-20 เมตร ทำให้มีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายเรือนหมอพร ด้วยพื้นที่บังคับ มหาวิทยาลัยจึงมอบให้คณะศิลปศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรือนหมอพร ทำหนังสือขออนุญาตกรมศิลปากรเพื่อเคลื่อนย้ายเรือนหมอพร และกรมศิลปากรได้ให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการได้ โดยให้ย้ายเรือนหมอพรไปตั้งในที่ใหม่ที่เหมาะสม ไม่ถูกบดบังทัศนียภาพของตัวเรือน ซึ่งห่างจากจุดเดิมประมาณ 80 เมตร ในเขตวังนางเลิ้งพื้นที่เดิมนั่นเอง โดยขยับจากตรงกลางระหว่างหอประชุมอาภากรเดิมและสนามบาสเกตบอลเดิม (ซึ่งจะถูกแทนที่ด้วยอาคารใหม่สองหลัง) มาอยู่ในตำแหน่งบริเวณสนามหญ้าด้านในพื้นที่โอบล้อมของอาคาร 1 และมีการลงเสาเข็มทำฐานปูนคอนกรีตเพื่อรองรับตัวเรือน ณ ที่ตั้งใหม่ให้แข็งแรงมั่นคงและสง่างาม
          ก่อนที่จะทำการเคลื่อนย้าย มีการทำพิธี 2 ครั้ง ทั้งพิธีพราหมณ์และพิธีสงฆ์ โดยมีพราหมณ์จากสำนักพระราชวัง และเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรมาช่วยดำเนินการ  จากนั้นจึงได้ทำการเคลื่อนย้ายตัวเรือน ระหว่างวันที่ 15 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 โดยว่าจ้างให้บริษัทฟีเนสส์ ซอยล์ เทสติ้ง จำกัด (Finesse Soil Testing Co., Ltd.) ซึ่งมีคุณธเนศ วีระศิริ เป็นวิศวกรผู้ควบคุมงาน ดำเนินการเคลื่อนย้ายเรือนโดยการชะลอขึ้นบนรางเหล็ก เคลื่อนไปบนรางนั้น และยกขึ้นวางบนฐานปูนคอนกรีตที่เตรียมไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนทิศของตัวเรือนแต่อย่างใด ทั้งนี้เพื่อให้ตัวเรือนได้รับการกระทบกระเทือนน้อยที่สุด

แม้ว่าการเคลื่อนย้ายเรือนหมอพรจะสิ้นสุดลงอย่างราบรื่นงดงามแล้ว แต่การบูรณะพัฒนาเรือนหมอพร ตลอดจนภูมิทัศน์รอบเรือนเพิ่งจะเริ่มต้น ทั้งนี้ก็เพื่ออนุรักษ์พัฒนาโบราณสถานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศิลปวัฒนธรรมของชาติให้ยั่งยืนสืบไป

(สารรักษ์วัฒนธรรม มทร.พระนคร ปีที่ 4 ฉบับที่ 4  ม.ค.-มิ.ย. 2552 หน้า 26-27)