ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว

ชื่อสถานที่        เรือนหมอพร

ปะเภทสถานที่   พิพิธภัณฑ์

ที่ตั้ง              คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

86 ถนนพิษณุโลก แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

จุดเด่น           เรือนหมอพร จัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอ-คลาสสิก (Neo-Classic) มีความโดดเด่นตรงที่เป็นเรือนไม้ หลังคาทรงปั้นหยา และเป็นอนุสรณ์สถานที่ยังคงสมบูรณ์แบบที่เหลืออยู่คู่วังนางเลิ้ง ภายในเรือนหมอพรมีการจัดแสดงสิ่งของ และพระประวัติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อาทิ ฉลองพระองค์ทหารเรือ พระมาลาอินทรธนู หีบเหล็กสำหรับเก็บข้าวของ เป็นต้น

เรือนหมอพร ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

ประวัติความเป็นมา

เรือนหมอพรใหม่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงซื้อที่ดินริมคลองเปรมประชากร พระราชทานแก่พระราชโอรสอันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมดทั้งสองพระองค์คือ เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ กับพระองค์เจ้าสุริยงประยูรพันธุ์ (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส) ที่ดินที่พระราชทานแก่เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ “มีถนนล้อม ๔ ด้าน มีเนื้อที่ ๑๐,๒๖๖ วาจตุรัส” สาระสำคัญในพระราชหัตถเลขาพระราชทานที่ดินที่ ๓/๕๒ บางตอน มีดังนี้

“ที่ตำบลนี้ตอนใต้ข้างปากคลองผดุง คือ ยาวตลอดลำคลองเปรมประชากร ทิศตะวันตก ๗ เส้น ๕ วา ๒ ศอก กว้างทิศใต้ตามคลองผดุง ๒ เส้น ๙ วา ๒ ศอก เลี้ยวเข้ามาตามลำคูเล็ก ๒ เส้น ๑๖ วา ๒ ศอก แล้วเลี้ยวโอบหลังบ้านญวนออกไป ๓ เส้น ๕ วา ยาวทิศตะวันออก ๕ เส้น ๓ วา ๒ ศอก กว้างทิศเหนือ ๕ เส้น ๖ วา ข้าพเจ้ายกให้เปนสิทธิเปนทรัพย์แก่ลูกชายอาภากรเกียรติวงศ์ ส่วนหนึ่งตามเนื้อที่กว้างยาวที่ได้กล่าวมาแล้วนี้”

“หนังสือสำคัญมอบที่นี้ได้ทำให้ลูกชายอาภากรเกียรติวงศ์ แต่วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๒ เปนวันที่ ๑๑๑๒๔ ในรัชกาลปัตยุบันนี้ ในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ (หลังจากพิธีเสกสมรส) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้แก่ลูกชายอาภากรเกียรติวงศ์ ค่าทำบ้าน เป็นจำนวนเงิน ๗๐๐ ชั่ง โดยตั๋วสำคัญที่ ๒๕๙๕ ลงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๓”

จากหลักฐานที่ได้พบนี้ สันนิษฐานว่าการสร้างวังที่นางเลิ้งคงจะเริ่มภายหลังการเสกสมรส(สมรสกับหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๓) หรืออาจสร้างก่อนการเสกสมรสเป็นบางส่วนและสร้างต่อมาจนสำเร็จเรียบร้อยในพ.ศ. ๒๔๔๙ ก็ได้เช่นเดียวกับวังสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๔ และเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ก่อนวังเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯประมาณ ๓ เดือน( พระประวัติพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระเกียรติคุณ เนื่องใน “วันอาภากร” และครบรอบ ๙๐ ปี ของการสิ้นพระชนม์ (๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖- ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖),๒๕๕๖. หน้า ๘๑-๘๒.)

เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯในระหว่างรับราชการจะทรงประทับในที่ต่างๆจนวันศุกร์ที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ทรงออกจากราชการ กลับมาใช้ชีวิตที่วังนางเลิ้งเป็น “หมอพร” ตรวจโรคและรักษาโรคแก่ชาวบ้าน ประมาณ ๖ ปี และได้ทรงกลับเข้ารับราชการในพ.ศ. ๒๔๖๐ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯสิ้นพระชนม์ที่ตำบลหาดทรายรี จังหวัดชุมพรวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ สิริพระชนมายุได้ ๔๒ พรรษา ๕ เดือน พระอัฐิบรรจุเก็บไว้ที่ ณ วิหารน้อย วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร และอัฐิส่วนหนึ่งบรรจุไว้ใต้พระแท่นฐานในศาลเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯยอดเขากระโจมไฟ แหลมปู่เจ้า อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

เรือนหมอพรเดิมเป็นของหม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา พระชายาในกรมหลวงชุมพรฯ มีลักษณะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น เป็นศิลปกรรมแบบ นีโอ–คลาสสิก (Neo-Classic) แต่ได้ดัดแปลงให้เข้ากับภูมิอากาศใน เขตร้อน ด้วยการสร้างเป็นเรือนไม้ เรือนลักษณะนี้เริ่มแพร่หลายเข้า มาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่นิยมสร้างกันในหมู่คหบดี ขุนนาง และชนชั้นกลางทั่วไป

ครั้นในปี พ.ศ. 2479 กรมอาชีวศึกษาได้ขอซื้อที่ดินพร้อมบ้านเรือนไม้สองชั้นสองหลังจากหม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา และหม่อมเจ้ารุจยากร อาภากร ณ อยุธยา ปัจจุบันเหลือเพียงเรือนแห่งนี้เพียงหลังเดียว เพื่อขยายอาณาเขตของโรงเรียนพณิชยการพระนครในขณะนั้น เรือนหลังนี้จึงตกอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร มาจนถึงทุกวันนี้ เรือนหลังนี้ แต่เดิมใช้เป็นที่ทำการของร้านสหกรณ์ ซึ่งเรียกว่า “ร้านฝึกการค้า” ดำเนินการโดยนักเรียน ชั้นบนเป็นที่เก็บสินค้า ส่วนชั้นล่างเป็นที่ทำการค้า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาเสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้มีรับสั่งถามว่า “ยังมีสิ่งใดที่ในสมัยเป็นวังหลงเหลืออยู่บ้าง” ศาสตราจารย์ธรรมนูญ อัคคพานิช ผู้อำนวยการในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า “ยังมีเรือนหลังหนึ่งอยู่” มีพระราชกระแสว่า “ให้อนุรักษ์ไว้” ซึ่งก็คือ “เรือนหมอพร”

เสด็จเปิดพระอนุสาวรีย์

ทางมหาวิทยาลัยได้บูรณะเรือนหลังนี้มาโดยตลอด ครั้งหนึ่งเคยใช้เป็น “เรือนพยาบาล” และได้ตั้งชื่อว่า “เรือนหมอพร” มีพิธีเปิด เมื่อ พ.ศ.2522 โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดเบญจมบพิตร เป็นประธานในพิธี เหตุที่ชื่อเรือนหมอพรนั้น มาจากพระนามของกรมหลวงชุมพรฯ ในบทบาทของหมอผู้รักษาคนไข้ ในระหว่างปี พ.ศ. 2454-2460 พระองค์ได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ และทรงสนพระทัยศึกษาในวิชาการแพทย์แผนโบราณจากตำราไทยและจากแพทย์ชาวต่างชาติ ทรงเขียนตำรายาแผนโบราณลงในสมุดข่อยและทรงตั้งชื่อตำรายาแผนไทยสมุดข่อยเล่มนี้ว่า “พระคัมภีร์ อติสาระวรรค โบราณะกรรม และ ปัจจุบันะกรรม” ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จ.สมุทรปราการ

ต่อมาเรือนหมอพรมีสภาพทรุดโทรมลง จึงย้ายเรือนพยาบาลออกไปไว้ที่หอประชุมอาภากร แล้วบูรณะเรือนหลังนี้ขึ้นใหม่ และได้จัดเรือนหมอพรเป็น “ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาเขตพณิชยการพระนคร สถาบันราชมงคลเฉลิมพระเกียรติ” มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2542 โดย ฯพณฯ ศาสตราจารย์ ดร.อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี (“เรือนหมอพร” สืบค้นวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗. www.tumsrivichai.com/index.php?lay) เมื่อมีการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ จึงได้ย้ายเรือนทั้งหลังโดยไม่มีการรื้อถอนตัวเรือน มาอยู่ในตำแหน่งบริเวณสนามหญ้าด้านในพื้นที่โอบล้อมของอาคาร ๑ และได้บูรณปฏิสังขรณ์เป็น “พิพิธภัณฑ์เรือนหมอพร”

ข้อมูลการเดินทาง         รถโดยสารรถโดยสารสาธารณะ  ถนนนครสวรรค์  5, ปอ.171 ถนนพิษณุโลก 16, 23, 99, 201, 157, ปอ.16, 23, 505

ข้อมูลการเข้าชม (วัน/เวลาให้บริการ/ค่าเข้าชม/เงื่อนไขในการเข้าชม)

เปิดให้เข้าชม     วันจันทร์ – ศุกร์  ในเวลาราชการ (08.30 – 16.30 น.) ไม่มีค่าเข้าชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และแต่งกายด้วยชุดสุภาพ

บริการภายในสถานที่ท่องเที่ยว (มัคคุเทศก์/แผนที่)

มีนักศึกษาบรรยายนำชม (ติดต่อล่วงหน้า โทร. 02 – 665-3555 ต่อ 1036, 1037)

ช่องทางเผยแพร่ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว

เว็บไซต์  http://ruenmohphon.rmutp.ac.th/

หน้าแรก คณะศิลปศาสตร์

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง (ชื่อ/ที่ตั้ง/จุดสังเกต)

ทำเนียบรัฐบาล, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม, พระบรมรูปทรงม้า, พระที่นั่งอนันตสมาคม พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ, วังปารุสกวัน, ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม, พิพิธภัณฑ์หนังสือพิมพ์ไทย, วัดโสมนัสราชวรวิหาร, ตลาดนางเลิ้ง, ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สวนสัตว์ดุสิต, หอสมุดแห่งชาติ, วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร, โรงภาพยนตร์เฉลิมธานี (ตลาดนางเลิ้ง)

 

ร้านอาหาร (ชื่อ/ที่ตั้ง/จุดสังเกต)

ร้านรุ่งเรืองบะหมี่เกี๊ยว นางเลิ้ง, ไทยเจริญ เกี๊ยวซ่า นางเลิ้ง, ส.รุ่งโรจน์ นางเลิ้ง, เป็ดพะโล้-เป็ดตุ๋น ก๋วยเตี๋ยวแคะ ตลาดนางเลิ้ง, เบญจรส นางเลิ้ง

 

ที่พัก (ชื่อ/ที่ตั้ง/จุดสังเกต)

ลูกชุบโฮมสเตย์ กรุงเทพ ถ.ลูกหลวง

ฉุกเฉิน โรงพยาบาลมิชชั่น